สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (9) “ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า” : พระจิตเจ้าภายในความเชื่อของพระศาสนจักร
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
หลังจากที่พวกเราได้พิจารณาสิ่งที่พระจิตเจ้าได้เผยแสดงภายในพระคัมภีร์กันไปแล้ว ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องวันนี้ พวกเราจะพิจารณาเรื่องการที่พระองค์ประทับอยู่และทรงกระทำกิจการ ทั้งในชีวิตของพระศาสนจักร และในชีวิตคริสตชนของพวกเรา
ในช่วงสามศตวรรษแรก พระศาสนจักรไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องกำหนดนิยามเรื่องความเชื่อในพระจิตเจ้า ตัวอย่างเช่น ในบทสัญลักษณ์ของอัครสาวก ซึ่งเป็นบทแสดงความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดของพระศาสนจักรนั้น หลังจากที่พวกเราประกาศว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงเนรมิตฟ้าดิน ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย […] ทรงบังเกิด[…] สิ้นพระชนม์ […] เสด็จสู่แดนมรณะ […] ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เสด็จสู่สวรรค์” เราก็พูดต่อเพียงว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า” ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้ระบุอะไรชัดเจนเลย
สิ่งที่ผลักดันให้พระศาสนจักรกำหนดนิยามของความเชื่อ[ในพระจิตเจ้า] คือความเชื่อแบบมิจฉาทิฐิ [หมายถึง การสอนผิด ๆ] กระบวนการ[ของพระศาสนจักร]เช่นนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยของนักบุญอาทานาซีโอ[แห่งอเล็กซันเดรีย, ราวปี 296 – 373] ในศตวรรษที่ 4 ซึ่งสิ่งที่ทำให้พระศาสนจักรมีความเชื่อมั่นว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าอย่างเต็มบริบูรณ์นั้น คือประสบการณ์ของพระศาสนจักรเองที่ได้สัมผัสถึงกิจการของพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์และทำให้ผู้คนมีลักษณะคล้ายกับพระเจ้ายิ่งขึ้น [การกำหนดนิยามความเชื่อเกี่ยวกับพระจิตเจ้า]เกิดขึ้นภายในสภาสังคายนาคอนสแตนติโนเปิล[ที่หนึ่ง]เมื่อปี 381 ซึ่งได้ให้นิยามเกี่ยวกับเทวภาพของพระจิตเจ้าด้วยถ้อยคำที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิต พระเจ้าผู้ทรงบันดาลชีวิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดา และพระบุตร พระองค์ดำรัสทางประกาศก” ทุกวันนี้พวกเราก็ยังคงกล่าวเช่นนี้ซ้ำ ๆ ในบทข้าพเจ้าเชื่อ
การกล่าวว่าพระจิตเจ้า “ทรงเป็นพระเจ้า” ย่อมเหมือนกับการกล่าวว่า พระจิตเจ้าทรงมีส่วนใน “ความเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” ของพระเจ้า คือเป็นการกล่าวว่า พระองค์ทรงอยู่ในโลกของผู้สร้าง ไม่ได้เป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งสร้าง สิ่งที่ยืนยันหนักแน่นที่สุด[ถึงเทวภาพของพระจิตเจ้า]คือถ้อยคำที่กล่าวว่า พระองค์ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดา และพระบุตร สิ่งนี้เป็นการกล่าวว่า พระองค์ทรงมี “สถานะควรยกย่องเท่าเทียม[กับพระบิดาและพระบุตร]” นี่เป็นสิ่งที่นักบุญบาซีลีโอผู้ยิ่งใหญ่ [330 – 379] ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนิยามนี้ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง [กล่าวโดยสรุปคือ] พระจิตเจ้าทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า
นิยามของสภาสังคายนา[คอนสแตนติโนเปิลที่หนึ่ง] ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง หากแต่เป็นจุดเริ่มต้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อเหตุผลทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการยืนยันอย่างชัดเจนว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นพระเจ้านั้นได้หมดไป [เทวภาพของพระจิตเจ้า]ก็ได้ถูกนำมาประกาศอย่างมั่นใจภายในพิธีกรรมของพระศาสนจักร รวมทั้งภายในเทววิทยาของพระศาสนจักรด้วย ภายหลังสภาสังคายนา[คอนสแตนติโนเปิลที่หนึ่ง] นักบุญเกรโกรีแห่งนาซีอันซุส [ราวปี 329 – 390] ได้กล่าวต่อไปโดยไม่ลังเลว่า “แล้วพระจิตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าหรือไม่? แน่นอนว่าทรงเป็นพระเจ้า! ทรงร่วมพระธรรมชาติ[กับพระบิดาและพระบุตร]หรือไม่? ใช่ เพราะว่าถ้าหากพระจิตเจ้าเป็นพระเจ้าแท้ [ก็ย่อมจะต้องทรงร่วมพระธรรมชาติกับพระบิดาและพระบุตร]” (คำปราศรัย 31, 5.10)
แล้วข้อเชื่อที่ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า” ที่พวกเราประกาศในพิธีมิสซาทุกวันอาทิตย์นั้น บอกอะไรกับพวกเราที่เป็นผู้เชื่ออยู่ในปัจจุบัน ในอดีต มีประเด็นปัญหาที่โดยหลักแล้วเกี่ยวข้องกับถ้อยคำที่ว่า พระจิตเจ้า “ทรงเนื่องมาจากพระบิดา” ซึ่งต่อมาไม่นานนัก พระศาสนจักรละติน[ในยุโรปตะวันตก]ก็ได้เสริมถ้อยคำนี้ โดยเพิ่มคำว่า “และพระบุตร” เข้าไปในบทข้าพเจ้าเชื่อที่สวดในพิธีมิสซา [ส่วนที่เสริมขึ้นมานี้]ที่ในภาษาละตินกล่าวว่า “ฟีลีโอกเว” (filioque) ได้ทำให้เกิดการโต้เถียงซึ่งกลายเป็นเหตุผล (หรือข้ออ้าง) สำหรับความขัดแย้งและความแตกแยกระหว่างพระศาสนจักรตะวันตกกับพระศาสนจักรตะวันออก เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะนำมาพิจารณากันในที่นี้ และไม่เพียงเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงบรรยากาศแห่งการพูดคุยเสวนาระหว่างพระศาสนจักร[ตะวันตกกับตะวันออก] ก็จะเห็นได้ว่า [การถกเถียงในปัจจุบันนี้]ไม่ได้เกรี้ยวกราดเหมือนแต่ก่อน และยังได้กลายเป็นหนทางที่ทำให้เรามีความหวังว่า พระศาสนจักรทั้งสองจะยอมรับซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นหนึ่งใน “ความแตกต่างที่ได้ปรองดองกันแล้ว” พ่ออยากใช้คำว่า “ความแตกต่างที่ได้ปรองดองกันแล้ว” [เหตุว่า]ในหมู่คริสตชนมีความแตกต่างกันอยู่มากมาย บางคนอาจถือตามความคิดของสำนักหนึ่ง ขณะที่บางคนอาจถือตามสำนักอื่น คนหนึ่งอาจเป็นโปรเตสแตนต์ แต่อีกคนหนึ่งอาจอยู่[อีกนิกาย อย่างไรก็ตาม] สิ่งสำคัญคือการประสานความแตกต่างเหล่านี้ให้เกิดเป็นความปรองดอง ภายในความรักแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน
เมื่อเราทั้งหลาย[ในพระศาสนจักรคาทอลิก]สามารถเอาชนะอุปสรรคขัดขวางข้อนี้ได้แล้ว ทุกวันนี้พวกเราย่อมเห็นได้ถึงคุณค่าของเอกสิทธิ์อันหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเรา คือสิ่งที่มีการประกาศในบทข้อเชื่อว่า พระจิตเจ้า “ทรงบันดาลชีวิต” ว่าพระจิตเจ้าเป็น “ผู้ทรงบันดาลชีวิต” ขอให้พวกเราลองถามตัวเองดูว่า ชีวิตที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลนั้นเป็นชีวิตแบบใด เมื่อครั้งปฐมกาลภายในการเนรมิตสร้าง ลมหายใจของพระเจ้าได้บันดาลให้อาดัม (มนุษย์) มีชีวิตแบบธรรมชาติ สิ่งที่ถูกปั้นขึ้นด้วยดินถูกทำให้กลายเป็น “ผู้มีชีวิต” (ปฐก. 2,7) แต่ในบัดนี้ ภายในการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ที่บันดาลให้บรรดาผู้เชื่อได้มีชีวิตใหม่ คือชีวิตของพระคริสตเจ้า คือชีวิตแบบเหนือธรรมชาติ [ซึ่งทำให้บรรดาผู้เชื่อได้]เป็นบุตรชายหญิงของพระเจ้า นักบุญเปาโลจึงสามารถกล่าวออกมาได้ว่า “กฎของพระจิตเจ้าซึ่งประทานชีวิตในพระคริสตเยซูนั้น ช่วยท่านให้พ้นจากกฎของบาปและกฎของความตาย” (รม. 8,2)
[เราได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ไปมากมาย คำถามสุดท้ายมีอยู่ว่า] อะไรคือข่าวประกาศอันยิ่งใหญ่ที่มอบความบรรเทาใจให้แก่พวกเรา [คำตอบคือเรื่องที่ว่า] ชีวิตซึ่งพระจิตเจ้าประทานให้แก่เรานั้นเป็นชีวิตนิรันดร [หากว่าพวกเรามีความเชื่อ] พวกเราก็ย่อมจะเป็นอิสระจากความกลัวซึ่งมาจากการที่เราจำต้องยอมรับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจบลงแค่ในโลกนี้ ไม่มีหนทางใดที่จะกอบกู้ผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ทรมานและความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่ครอบงำโลกนี้อยู่ได้ คำกล่าวอีกอันหนึ่งของ[นักบุญเปาโล]ได้ยืนยันกับพวกเราในเรื่องนี้ว่า “ถ้าพระจิตของพระผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายนั้นสถิตอยู่ในท่าน พระผู้ทรงบันดาลให้พระคริสตเยซูทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ก็จะทรงบันดาลให้ร่างกายที่ตายได้ของท่านกลับมีชีวิต เดชะพระจิตของพระองค์ ซึ่งสถิตอยู่ในท่านด้วย” (รม. 8,11) พระจิตเจ้าประทับอยู่ในเรา ทรงสถิตอยู่ภายในเรา
[ดังนั้น] ขอให้เราทั้งหลายจงทำนุบำรุงความเชื่ออันนี้ [ทั้งสำหรับพวกเราเอง] และสำหรับผู้คนต่าง ๆ ที่ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งพวกเขาจะไม่ได้ผิดอะไร แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้มีความเชื่ออย่างนี้ และยังไม่อาจเห็นความหมายในชีวิตของตนได้ นอกจากนี้ ขอให้เราอย่าลืมขอบพระคุณ[พระเยซูเจ้า]ด้วย เพราะว่าพระองค์ได้ยอมสิ้นพระชนม์ เพื่อที่จะนำของประทานอันประเมินค่ามิได้นี้มามอบให้แก่พวกเรา
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ อินเดีย คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้แทนจากวิทยาลัยการป้องกันของ[องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ]นาโต กลุ่มบาทหลวงจากสถาบันการศึกษาเทววิทยาต่อเนื่องของสมณวิทยาลัยอเมริกาเหนือ และกลุ่มจากมูลนิธิสมณมหาวิทยาลัยเกรโกเรียน พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้ตลอดจนครอบครัวของลูก จงได้รับความปีติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดคำนึงไปยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน พิธีกรรมในวันพรุ่งนี้จะเป็นการระลึกถึงนักบุญอิกนาซีโอแห่งอันตีโอก ท่านเป็นผู้อภิบาลที่มีใจร้อนรนด้วยความรักต่อพระคริสตเจ้า ขอให้แบบอย่างของท่านจงช่วยให้ทุกคนได้ค้นพบอีกครั้งถึงความปีติยินดีของการเป็นคริสตชน
และขอให้พวกเราอย่าลืมประเทศต่าง ๆ ที่กำลังมีสงคราม ขอให้เราอย่าลืมยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนทำร้าย ขอให้เราอย่าลืมปาเลสไตน์ อิสราเอล และเมียนมา พี่น้องชายหญิงที่รัก อย่าลืมว่าสงครามเป็นความพ่ายแพ้เสมอ ขอให้เราอย่าลืมสิ่งนี้ ขอให้เราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ และขอให้เราดิ้นรนต่อสู้เพื่อสันติภาพด้วย
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก พวกเรากำลังเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตเจ้า ผู้ที่ประทับอยู่และทรงกระทำกิจการภายในชีวิตของพระศาสนจักร เราทั้งหลายประกาศในบทข้าพเจ้าเชื่อ ว่า พระจิตเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงบันดาลชีวิต” ซึ่งภายในพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ พระจิตเจ้าทรง “ร่วมพระธรรมชาติ” [กับพระบิดาและพระบุตร] กล่าวคือ ทรงมีสถานะความเป็นพระเจ้าเท่าเทียมกับพระบิดาและพระบุตร และในฐานะที่พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ “บันดาลชีวิต” พระองค์ก็ได้โปรดให้เราทั้งหลายมีส่วนในชีวิตของพระคริสตเจ้า ตลอดจนมีส่วนในชัยชนะของพระองค์เหนือบาปและความตาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นการที่พระองค์ประทานความหวังให้แก่เราทั้งหลาย ท่ามกลางความทุกข์ทรมานและความอยุติธรรมต่าง ๆ ในโลกของพวกเรา ดังนั้น ขอให้เราทั้งหลายวอนขอพระจิตเจ้า ขอให้พระองค์โปรดเสริมกำลัง เพื่อที่เราทั้งหลายจะมีความเชื่อมั่นแข็งแกร่งยิ่งขึ้นว่า การฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า ย่อมมีอานุภาพเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราทั้งหลาย ตลอดจนเปลี่ยนแปลงโลกที่พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)