สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2024


การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (8) “ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” : พระจิตเจ้าภายในกิจการของบรรดาอัครสาวก
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตเจ้ากับพระศาสนจักร ในวันนี้เราจะพิจารณาหนังสือกิจการอัครสาวก
ในเรื่องพระจิตเจ้าเสด็จลงมาในวันเปนเตกอสเต [หนังสือกิจการอัครสาวก]ได้เล่าไว้โดยเริ่มจากการบรรยายถึงเครื่องหมายบางอย่างที่เป็นการตระเตรียม กล่าวคือ เสียงลมพัดแรงกล้า และเปลวไฟที่ลักษณะเหมือนลิ้น แต่บทสรุปของเรื่องนี้คือการยืนยันว่า “ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” (กจ. 2,4) นักบุญลูกาที่เป็นผู้นิพนธ์หนังสือกิจการอัครสาวกได้เน้นว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นหลักประกันความเป็นสากลและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพระศาสนจักร [พวกเราต่างเห็นว่า] เมื่อบรรดาอัครสาวก “ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” แล้ว ก็ได้ทำให้เกิดผลตามมาโดยทันที คือการที่พวกท่าน “เริ่มพูดภาษาอื่น ๆ” และได้ออกจากห้องชั้นบนเพื่อประกาศพระเยซูเจ้าแก่ฝูงชน[ที่มาชุมนุมกันที่กรุงเยรูซาเล็มในขณะนั้น] (เทียบ กจ. 2,4 และข้อความที่ตามมา)
นักบุญลูกาบรรยายเช่นนี้เพื่อมุ่งเน้นถึงพันธกิจที่เป็นสากลของพระศาสนจักร ในฐานะที่พระศาสนจักรเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแบบใหม่ในหมู่ประชาชาติต่าง ๆ ทั้งมวล พวกเราได้เห็นว่า พระจิตเจ้าทรงกระทำกิจการในสองแนวทางเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในด้านหนึ่ง พระจิตเจ้าทรงผลักดันพระศาสนจักรออกไปภายนอก เพื่อโอบรับผู้คนและประชาชาติต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง พระจิตเจ้าทรงรวบรวมผู้คนทั้งหลายให้มาอยู่ในพระศาสนจักร เพื่อให้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่บังเกิดขึ้นแล้วแข็งแกร่งมั่นคงยิ่งขึ้น พระจิตเจ้าทรงสอนให้พระศาสนจักรแผ่ขยายออกไปภายในความเป็นสากล และทรงสอนให้พระศาสนจักรมีความแข็งแกร่งมั่นคงภายในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน [ทั้งสองสิ่งนี้ ได้แก่] ความเป็นสากล และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร
เราสามารถเห็นความเคลื่อนไหวอย่างแรก คือ ความเป็นสากล ภายในบทที่ 10 ของหนังสือกิจการอัครสาวก ซึ่งเป็นเรื่องการกลับใจของนายร้อยโครเนลีอัส [ก่อนหน้านั้น]ในวันเปนเตกอสเต บรรดาอัครสาวกได้ประกาศพระเยซูคริสตเจ้า [แต่ผู้ที่ได้ฟังการประกาศนั้นยังคงจำกัดอยู่เฉพาะ]ชาวยิวและคนจากชาติต่าง ๆ ที่ถือตามธรรมบัญญัติของโมเสส แต่พอมาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านของโครเนลีอัส [เราก็ได้เห็น]พระจิตเจ้าทรงกระตุ้นให้บรรดาอัครสาวกขยายขอบฟ้าของตนให้กว้างออกไป และให้พวกท่านทำลายอุปสรรคขวางกั้นอย่างสุดท้าย คือ กำแพงระหว่างชาวยิวกับคนนอกศาสนา (เทียบ กจ. บทที่ 10-11) สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้นับว่าเป็น “วันเปนเตกอสเต” ครั้งใหม่ที่คล้ายกับครั้งแรกอย่างมาก
การขยายตัวด้านเชื้อชาติแบบนี้มาพร้อมกับการขยายตัวในทางภูมิศาสตร์ด้วย ในหนังสือกิจการอัครสาวก (เทียบ กจ. 16,6-10) เราได้เห็นว่า [ในเวลาหนึ่ง] นักบุญเปาโลต้องการประกาศพระวรสารที่ดินแดนใหม่ในภูมิภาคเอเชียน้อย [คือตุรกีในปัจจุบัน] แต่พระคัมภีร์ได้เขียนไว้ว่า นักบุญเปาโลและคณะของท่านถูก “ห้าม” โดยพระจิตเจ้า กล่าวคือ พวกท่านพยายามเข้าไปยังแคว้นบิธีเนีย “แต่พระจิตของพระเยซูเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้เข้าไป” การที่พระจิตเจ้าทรงห้ามเช่นนี้เป็นเรื่องเหนือความคาดคิด แต่พวกเราได้ค้นพบเหตุผลในทันทีว่า ในคืนต่อมา นักบุญเปาโลได้เห็นนิมิตในความฝันที่สั่งให้พวกท่านเดินทางข้ามมายังแคว้นมาซิโดเนีย [ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซในปัจจุบัน] เช่นนี้เองที่พระวรสารได้ออกจากทวีปเอเชียซึ่งเป็นถิ่นเดิม [และแผ่ขยาย]เข้าไปยังยุโรป
ความเคลื่อนไหวอย่างที่สองของพระจิตเจ้า คือ การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในบทที่ 15 ของหนังสือกิจการอัครสาวก ซึ่งกล่าวถึงความเป็นไปของสิ่งที่เรียกว่า สภาสังคายนาเยรูซาเล็ม ในตอนนั้นมีปัญหาอยู่ว่า จะทำอย่างไรดีเพื่อป้องกันไม่ให้ความเป็นสากลที่เกิดขึ้นแล้วมาบั่นทอนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพระศาสนจักร [เราจะเห็นได้ว่า]ในบางครั้ง พระจิตเจ้าไม่ได้ทรงกระทำกิจการอย่างอัศจรรย์และเด็ดขาดเพื่อบันดาลให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันขึ้นในทันทีเหมือนกับเมื่อวันเปนเตกอสเต หากแต่ในกรณีส่วนมาก พระจิตเจ้าทรงกระทำเช่นนี้ผ่านทางกิจการที่สุขุมรอบคอบ มีการให้เวลาแก่มนุษย์ มีการเคารพต่อความแตกต่างระหว่างผู้คน เป็นการดำเนินงานโดยอาศัยผู้คน อาศัยสถาบันต่าง ๆ อาศัยการอธิษฐานภาวนา และการขัดแย้งเผชิญหน้า วิธีแบบนี้เป็นสิ่งที่ในปัจจุบันเราอาจเรียกได้ว่า เป็นแนวทางแบบก้าวไปด้วยกัน (“ซีนอด”) นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสภาสังคายนาเยรูซาเล็ม ซึ่งได้พิจารณาประเด็นที่ว่า จะกำหนดให้ผู้คนนอกศาสนาที่กลับใจแล้วต้องถือตามธรรมบัญญัติของโมเสสหรือไม่ และเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ได้มีการนำคำตอบนี้มาประกาศต่อพระศาสนจักรทั้งมวล โดยเริ่มจากถ้อยคำที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ “พระจิตเจ้าและพวกเราเห็นควรว่า…” (เทียบ กจ. 15.28)
ในเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้มีขึ้น นักบุญเอากุสตินได้อธิบายโดยใช้ภาพอย่างหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นสิ่งที่ใช้ได้โดยไม่ล้าสมัย ว่า “วิญญาณมีบทบาทในกายมนุษย์ฉันใด พระจิตเจ้าก็ทรงมีบทบาทในพระกายพระคริสตเจ้า คือพระศาสนจักรฉันนั้น” (บทเทศน์ที่ 267, ข้อ 4) ภาพเช่นนี้ช่วยให้พวกเราเข้าใจถึงสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งว่า การที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันขึ้นในพระศาสนจักร ไม่ใช่การกระทำจากภายนอก พระจิตเจ้าไม่ได้เพียงแค่ทรงสั่งให้พวกเราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเท่านั้น [แต่]พระองค์ทรงเป็น “สายสัมพันธ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (เทียบ อฟ. 4,3) พระองค์ทรงบันดาล[ให้]ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพระศาสนจักร[เกิดขึ้นจากภายใน]
ในวันนี้เช่นเดียวกับทุกครั้ง พ่อขอสรุปด้วยการฝากข้อคิดไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้พวกเรานำสิ่งที่เป็นเรื่องของพระศาสนจักรโดยรวมมาปรับใช้กับตัวเราแต่ละคนด้วย ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพระศาสนจักร คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างผู้คน ดังนั้นจึงไม่อาจบรรลุได้ด้วยการคิดวางแผน แต่[จะบรรลุได้ก็โดยอาศัยการกระทำ]ภายในชีวิต[จริง] ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต้องอาศัยการกระทำในชีวิต[จริง] พวกเราทุกคนอยากมีเอกภาพ พวกเราล้วนปรารถนาเอกภาพจากเบื้องลึกของจิตใจ แต่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นกลับบรรลุได้ยากเหลือเกิน [เช่น] แม้กระทั่งในระหว่างคู่สมรสและภายในครอบครัว ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความปรองดองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำสำเร็จได้ยากที่สุด ขณะที่การรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้คงอยู่ต่อไปนั้นก็ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก
การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้นภายในหมู่พวกเราเองเป็นเรื่องยาก นี่เป็นเพราะอะไร จริงอยู่ที่ว่าทุกคนอยากเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทว่าแต่ละคนต่างก็อยากให้เอกภาพนั้นตั้งอยู่บนความเห็นของตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าคนอื่นที่อยู่ต่อหน้าเขานั้นก็คิดแบบเดียวกันเรื่องความเห็น “ของตน” ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็มีแต่จะหนีห่างออกไปไกลยิ่งขึ้น [ในทางตรงข้าม] ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแห่งชีวิต ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแบบที่เกิดขึ้นในวันเปนเตกอสเต ซึ่งอิงอยู่กับพระจิตเจ้านั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนพยายามยึดถือพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง การสร้างเอกภาพแบบคริสตชนก็จะต้องทำในแนวนี้เช่นกัน กล่าวคือ ไม่ใช่การรอให้คนอื่นมาหาเราในที่ที่เราอยู่ แต่เป็นการก้าวเดินไปด้วยกันโดยมุ่งหน้ายังพระเยซูคริสตเจ้า
ขอให้เราทั้งหลายจงวอนขอความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า เพื่อที่เราจะได้มีส่วนในการสร้างสันติสุข และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ สกอตแลนด์ เดนมาร์ก กรีซ อินเดีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทาย[เป็นพิเศษต่อ]บรรดาผู้เตรียมบวชเป็นบาทหลวงซึ่งเพิ่งจะเข้าศึกษาในสมณวิทยาลัยเบดา[ที่กรุงโรมแห่งนี้] พ่อจะอธิษฐานภาวนาเพื่อพวกลูกที่ได้เริ่มศึกษาเพื่อมุ่งเป็นบาทหลวง และพ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้ตลอดจนครอบครัวของลูก จงได้รับความปีติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดคำนึงไปยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่อุทิศแก่สายประคำศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ลูกใช้โอกาสอันมีค่าในเดือนนี้เพื่อทำให้[การสวดสายประคำ]ซึ่งเป็นกิจศรัทธาต่อแม่พระที่ทำกันมายาวนานนี้ได้แพร่หลาย พ่อขอเตือนใจลูกทุกคนให้สวดสายประคำทุกวัน และให้ลูกมอบตนด้วยความเชื่อมั่นไว้กับพระแม่มารีย์ [ในการนี้] ขอให้พวกเรามอบความทุกข์ยาก ตลอดจนความปรารถนาสันติภาพของผู้คนในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนในยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนทำร้าย ผู้คนในปาเลสไตน์ อิสราเอล เมียนมา และซูดาน ที่ต่างต้องทนทรมานจากความบ้าคลั่งของสงคราม ไว้กับแม่พระผู้มีความเมตตาอารีอ่อนหวานด้วย
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตเจ้า ในวันนี้เราจะพิจารณาเรื่องพระจิตเจ้าเสด็จลงมาในวันเปนเตกอสเต ซึ่งมีเขียนไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวกว่า บรรดาอัครสาวก “ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” และถูกส่งไปประกาศพระวรสารแก่โลก พระจิตเจ้าทรงนำทางพระศาสนจักรในทุกยุคทุกสมัย เพื่อที่พระศาสนจักรจะไปดำเนินพันธกิจโอบรับผู้คนทั้งมวลไว้ภายในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของ[พระศาสนจักร ซึ่งเป็น]พระกายพระคริสตเจ้า ขอให้พวกเราวอนขอพระจิตเจ้า เพื่อที่พระองค์จะทรงหนุนกำลังให้พระศาสนจักรมีความซื่อสัตย์ต่อเอกภาพและความเป็นสากลของตน ภายในการประกาศข่าวดีแห่งความรอดของชาวเรา เพื่อดึงดูดให้นานาชาติมาใกล้ชิดพระเยซูคริสตเจ้า และใกล้ชิดกันและกัน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)