สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (2) “ลมย่อมพัดไปในที่ที่ลมต้องการ”: พระจิตของพระเจ้าอยู่ที่ใด เสรีภาพย่อมมี ณ ที่นั้น
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องวันนี้ พ่ออยากจะให้เราทุกคนร่วมกันไตร่ตรองเกี่ยวกับชื่อเรียกของพระจิตเจ้าภายในพระคัมภีร์
เวลาที่เราทำความรู้จักกับใครสักคน สิ่งแรกที่เรารู้เกี่ยวกับเขา คือชื่อเรียก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้เพื่อเรียกเขา เพื่อระบุแยกแยะเขากับคนอื่น และเพื่อจดจำเขา พระบุคคลที่สามแห่งพระตรีเอกภาพก็มีชื่อเหมือนกัน พวกเราเรียกพระองค์ว่าพระจิตเจ้า แต่คำว่าพระจิต หรือ “Spiritus” นี้ เป็นชื่อเรียกที่ถูกทำให้เป็นภาษาละติน ขณะที่บรรดาผู้คนที่ได้รับการเผยแสดงเป็นพวกแรก ซึ่งรวมถึงบรรดาประกาศก ผู้นิพนธ์เพลงสดุดี รวมทั้งพระแม่มารีย์ พระเยซูเจ้า และบรรดาอัครสาวก ต่างเรียกพระจิตเจ้าด้วยคำ[ในภาษาฮีบรู]ว่า “รูอาค์” (Ruach) ซึ่งมีความหมายว่า ลม ลมหายใจ หรืออากาศที่ลอยไป
ในพระคัมภีร์นั้น ชื่อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากจนถึงขนาดที่เกือบจะมองได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกับบุคคล [ตัวอย่างเช่น] การเทิดทูนสักการะพระนามของพระเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งเดียวกับการเทิดทูนและสักการะพระเจ้า ดังนั้น ชื่อเรียกจึงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่กำหนดขึ้นมาให้เข้าใจร่วมกัน หากแต่ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าบุคคลหนึ่งเป็นใคร มาจากไหน หรือมีภารกิจอย่างไร คำว่า รูอาค์ นี้ก็เช่นกัน คำนี้เป็นการเผยแสดงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นใคร และทรงมีบทบาทอย่างไร
การที่บรรดาผู้เขียนพระคัมภีร์ได้เฝ้าสังเกตลมและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของลม ได้ทำให้พวกเขาได้รับการทรงนำจากพระเจ้าให้ไปพบกับ “ลม” อีกอย่างหนึ่งที่มีธรรมชาติแตกต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พระจิตเจ้าได้เสด็จลงมาเหนือบรรดาอัครสาวกพร้อมกับ “เสียงลมพัดแรงกล้า” (เทียบ กจ. 2,2) ในวันเปนเตกอสเต ราวกับพระองค์อยากจะแสดงให้เป็นที่รับรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในที่นั้นเป็นกิจการของพระองค์จริง ๆ
แล้วคำว่า “รูอาค์” ได้บอกอะไรกับเราเกี่ยวกับพระจิตเจ้าบ้าง อย่างแรกสุด ภาพของลมเป็นสิ่งแสดงออกถึงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า ในหลายที่ของพระคัมภีร์มีคำกล่าวจับคู่คำว่าพระจิตเจ้า [หรือ “จิต” spiritus] ไว้กับพระอานุภาพ [หรืออานุภาพ] เช่น “จิตและอานุภาพ” [เทียบ ลก. 1,17] “พระอานุภาพของพระจิตเจ้า” [เทียบ มคา. 3,8; 1 คร. 2,4] เป็นเพราะว่าลมเป็นอานุภาพที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ไม่อาจหยุดยั้งได้ มีพลังแม้กระทั่งทำให้มหาสมุทรเคลื่อนที่ไปก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากเราอยากจะค้นพบความหมายที่สมบูรณ์ของความจริงในพระคัมภีร์ เราจะต้องไม่หยุดอยู่แค่การอ่านพันธสัญญาเดิม แต่เราจะต้องไปหาพระเยซูเจ้า ซึ่งนอกจากอานุภาพของลมแล้ว พระเยซูเจ้าได้ทรงเน้นย้ำลักษณะพิเศษของลมอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ เสรีภาพ เมื่อนิโคเดมัสมาหาพระองค์ตอนกลางคืน พระองค์ได้ตรัสอย่างสง่าแก่นิโคเดมัสว่า “ลมย่อมพัดไปในที่ที่ลมต้องการ ท่านได้ยินเสียงลมพัด แต่ไม่รู้ว่า ลมพัดมาจากไหน และจะพัดไปไหน ทุกคนที่เกิดจากพระจิตเจ้าก็เป็นเช่นนี้” (ยน. 3,8)
ลมเป็นสิ่งเดียวที่ไม่อาจกักขังหน่วงรั้งไว้ได้แต่อย่างใดเลย เราไม่อาจเก็บลมปิดไว้ในขวด หรือเอาลมเก็บไว้ในกล่องได้ เราอาจพยายามเก็บลมไว้ในขวดหรือในกล่อง แต่เรื่องเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าลมมีเสรีภาพ [ในทำนองเดียวกัน] ถ้าใครพยายามจะตีกรอบพระจิตเจ้าไว้ให้อยู่ภายในข้อความคิดบางอย่าง นิยามบางอย่าง สมมติฐานบางอย่าง หรือในตำราต่าง ๆ ดังที่วิธีการทางความคิดแบบเหตุผลนิยมในปัจจุบันพยายามจะทำ คนผู้นั้นก็ย่อมจะสูญเสียพระจิตเจ้าไป ทำให้พระจิตเจ้าไม่มีบทบาท หรืออาจเป็นการลดทอนพระจิตเจ้าจนกลายเป็นเพียงจิตมนุษย์ หรือจิตแบบธรรมดา การผจญยั่วยุทำนองเดียวกันนี้สามารถเห็นได้ในแวดวงพระศาสนจักรด้วย บางคนอยากจะตีกรอบพระจิตเจ้าไว้ในข้อบัญญัติ สถาบัน หรือนิยามต่าง ๆ [ทว่าที่จริงแล้ว] พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ก่อร่างและทำให้สถาบันต่าง ๆ มีชีวิตชีวา ขณะที่การตีกรอบพระจิตเจ้าให้มีความเป็นสถาบันนั้น ไม่สามารถทำได้ ลมย่อมพัดไปใน “ที่ที่ลมต้องการ” ฉันใด พระจิตเจ้าก็ทรงแจกจ่ายของประทานต่าง ๆ “ตามที่พอพระทัย” ฉันนั้น (1 คร. 12,11)
นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตที่ใด เสรีภาพย่อมอยู่ที่นั่น” (2 คร. 3,17) คำกล่าวนี้เป็นการวางกฎเกณฑ์พื้นฐานสำหรับการที่คริสตชนจะกระทำสิ่งใดก็ตาม [กล่าวคือ] คนที่มีเสรีภาพ คริสตชนที่มีเสรีภาพ จะต้องเป็นคนที่มีพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า[อยู่ในตัวเขา] เสรีภาพอันนี้เป็นสิ่งพิเศษอย่างยิ่ง และต่างจากเสรีภาพอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ [เสรีภาพในพระจิตเจ้า]ไม่ใช่เสรีภาพสำหรับทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ แต่เป็นเสรีภาพสำหรับกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้โดยสมัครใจ [เสรีภาพในพระจิตเจ้า]ไม่ใช่เสรีภาพในการทำเรื่องดีหรือเรื่องชั่วก็ได้ หากแต่เป็นเสรีภาพในการทำความดีและโดยสมัครใจ โดยการถูกดึงดูด ไม่ใช่โดยการถูกบังคับ กล่าวอีกอย่างคือ เสรีภาพนี้เป็นเสรีภาพของผู้ที่เป็นบุตร ไม่ใช่ทาส
นักบุญเปาโลตระหนักดีว่าเสรีภาพเช่นนี้อาจถูกเข้าใจผิด หรืออาจถูกนำไปใช้แบบผิด ๆ ได้ ท่านได้เขียนไว้ในจดหมายถึงชาวกาลาเทียว่า “พี่น้องทั้งหลาย พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มารับอิสรภาพ ขอเพียงแต่อย่าใช้อิสรภาพนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำตามใจตน [(แปลตรงตัวว่า: ข้อแก้ตัวสำหรับเนื้อหนัง)] แต่จงรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก” (กท. 5,13) เสรีภาพอันนี้เป็นสิ่งที่แสดงออกในรูปแบบที่ดูเหมือนว่าตรงกันข้ามกับเสรีภาพ กล่าวคือ เสรีภาพนี้แสดงออกภายในการรับใช้ และภายในการรับใช้ก็ย่อมมีเสรีภาพที่แท้จริงอยู่
พวกเราต่างรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเสรีภาพกลายเป็น “ข้อแก้ตัวสำหรับเนื้อหนัง” นักบุญเปาโลได้ไล่เรียงรายชื่อเอาไว้ซึ่งใช้ได้อยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือ “การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราคะตัณหา การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวทมนตร์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก การเมามาย การสำมะเลเทเมา และอีกหลายประการในทำนองเดียวกันนี้” (กท. 5,19-21) แต่เสรีภาพอันนี้ก็อาจเปิดทางให้คนรวยขูดรีดหาประโยชน์จากคนจนได้เหมือนกัน เสรีภาพที่เปิดทางให้คนรวยเอาเปรียบคนจน และเปิดทางให้ใครก็ตามสามารถขูดรีดหาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้ตามใจชอบนั้น เป็นเสรีภาพที่น่ารังเกียจ และไม่ใช่เสรีภาพที่มาจากพระจิตเจ้า
พี่น้องที่รัก เสรีภาพในพระจิตเจ้าเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับเสรีภาพแห่งความเห็นแก่ตัว แล้วเราจะแสวงหาเสรีภาพแห่งพระจิตเจ้าได้จากที่ไหน คำตอบเรื่องนี้มีอยู่ในพระวาจาของพระเยซูเจ้าซึ่งตรัสกับคนที่มาฟังพระองค์ว่า “ถ้าพระบุตรทำให้ท่านเป็นอิสระ ท่านก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง” (ยน. 8,36) เสรีภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าประทานให้แก่เรา ดังนั้น ขอให้เราทั้งหลายวอนขอพระเยซูเจ้า ขอให้พระองค์โปรดช่วยให้เราทั้งหลายมีเสรีภาพอย่างแท้จริง อาศัยพระจิตเจ้าของพระองค์ เพื่อที่เราจะได้มีเสรีภาพเพื่อการรับใช้ภายในความรักและความปีติยินดี ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ สกอตแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคเมอรูน ออสเตรเลีย มาเลเซีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกทุกคนตลอดจนครอบครัวของลูกได้รับความปีติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าโปรดประทานพรแก่ลูกทุกคน
เราทั้งหลายได้เข้าสู่เดือนมิถุนายนซึ่งอุทิศแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า และเราทั้งหลายกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวันครบรอบ 350 ปี นับตั้งแต่ที่นักบุญมาร์เกอริต-มารี อาลาก๊อก ได้รับการประจักษ์ของพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นครั้งแรก การเฉลิมฉลองนี้จะมีไปจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนปีหน้า
ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงมีความยินดีที่จะได้เตรียมเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อคิดไตร่ตรองต่าง ๆ ทั้งที่มาจากอำนาจสอนของพระศาสนจักรในอดีต และจากประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ย้อนไปได้ถึงพระคัมภีร์ และนำเอาสิ่งเหล่านี้มามอบเสนออีกครั้ง เพื่อที่พระศาสนจักรทั้งมวลจะได้รับรู้เกี่ยวกับกิจศรัทธาต่อพระหฤทัย ซึ่งเป็นกิจศรัทธาที่เปี่ยมไปด้วยความงามทางฝ่ายจิตอันนี้ พ่อเชื่อว่าจะเป็นเรื่องดีอย่างมากหากว่าเราทั้งหลายหันมาการรำพึงไตร่ตรองเกี่ยวกับความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้าในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งการทำเช่นนี้อาจเป็นแสงส่องทางสู่การฟื้นฟูพระศาสนจักรให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น และยังอาจเป็นการส่งสารบางอย่างที่มีความหมายสำคัญให้แก่โลก[ของเรา]ที่ดูเหมือนว่าจะสูญเสียหัวใจไป [ดังนั้น] พ่อจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องร่วมกันอธิษฐานภาวนากับพ่อภายในช่วงเวลาแห่งการเตรียมเอกสารดังกล่าวด้วย เพื่อที่พ่อจะสามารถเผยแพร่เอกสารนี้ได้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดคำนึงถึงบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน ในอีกไม่กี่วันนี้ พระศาสนจักรจะสมโภชพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า และจะระลึกถึงดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ ขอให้การเฉลิมฉลองเหล่านี้จงเป็นเครื่องเตือนใจให้เราทั้งหลายตระหนักถึงความจำเป็นที่เราจะต้องร่วมมือกับความรักของพระเยซูคริสตเจ้าที่นำมาซึ่งความรอด และเป็นโอกาสที่เชื้อเชิญให้เราทั้งหลายมอบตนไว้ด้วยความเชื่อมั่นวางใจภายในการเสนอวิงวอนของพระแม่มารีย์ พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ขอให้เราทั้งหลายจงวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้า และขอให้พระแม่มารีย์โปรดเสนอวิงวอนด้วย เพื่อที่สันติภาพจะได้เกิดมีขึ้น ทั้งในยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนทำร้าย ทั้งในปาเลสไตน์ ในอิสราเอล และในเมียนมา ขอให้เราวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่พระองค์จะโปรดประทานสันติภาพ และเพื่อที่โลกจะไม่ต้องทนทุกข์มากมายกับสงครามอีกต่อไป ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานพรแก่ลูกทุกคน อาเมน
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว วันนี้เราจะเน้นพิจารณาเกี่ยวกับชื่อเรียกของพระจิตเจ้าภายในพระคัมภีร์ ซึ่งในภาษาฮีบรูเป็นคำว่า “รูอาค์” มีความหมายว่า ลมหายใจ ลม หรือจิต การเรียกเช่นนี้เป็นการเน้นถึงพระอานุภาพอันล้ำลึกมหาศาลและเสรีภาพของพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบพระจิตเจ้าว่าเหมือนกับลมที่พัดไปในที่ที่ลมต้องการ เป็นการเน้นถึงเสรีภาพของพระจิตเจ้า ซึ่งไม่เพียงแต่จะทรงเป็นผู้สร้างและผู้ดลใจเท่านั้น แต่ยังทรงมีเสรีภาพอยู่ในทุกเมื่อ และทรงแจกจ่ายของประทานต่าง ๆ “ตามที่พอพระทัย” (1 คร. 12,11) นักบุญเปาโลได้ยืนยันสิ่งนี้โดยกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระจิต และพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตที่ใด เสรีภาพย่อมอยู่ที่นั่น” (2 คร. 3,17) เสรีภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายได้รับมอบเป็นของประทาน เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า แทนที่จะเอาแต่ทำตามความปรารถนาของเราเอง เสรีภาพอันนี้ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณแห่งความเห็นแก่ตัว แล้วเราจะแสวงหาเสรีภาพนี้ได้จากที่ไหน คำตอบเรื่องนี้อยู่ในพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ตรัสกับบรรดาผู้ติดตามพระองค์ว่า “ถ้าพระบุตรทำให้ท่านเป็นอิสระ ท่านก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง” (ยน. 8,36) [ดังนั้น] ขอให้เราทั้งหลายวอนขอต่อพระเยซูเจ้า ให้พระองค์ทรงทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง อาศัยพระจิตเจ้าของพระองค์ เพื่อที่เราจะได้มีเสรีภาพที่จะรับใช้ด้วยความรักและความปีติยินดี
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร
เก็บการสอนคำสอน General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)