สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 10 เมษายน 2024


คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (15) ความกล้าหาญ
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
การเรียนคำสอนในวันนี้เป็นเรื่องคุณธรรมหลักประการที่สาม ได้แก่ ความกล้าหาญ ให้เราเริ่มจากคำอธิบายในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกที่กล่าวไว้ว่า “ความกล้าหาญ เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่ทำให้มีความเข้มแข็งในความยากลำบากและมีความมั่นคงในการทำความดี คุณธรรมประการนี้เป็นสิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความตั้งมั่นที่จะเผชิญการผจญและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตตามศีลธรรม คุณธรรมแห่งความกล้าหาญทำให้เราสามารถเอาชนะความกลัว แม้กระทั่งความกลัวตาย และยังทำให้เราสามารถเผชิญกับการทดลองและการเบียดเบียน” (ข้อ 1808) หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกพูดเกี่ยวกับคุณธรรมแห่งความกล้าหาญไว้แบบนี้
เราย่อมได้เห็นในที่นี้ว่า ความกล้าหาญเป็นสิ่งที่ “มีลักษณะแห่งการต่อสู้” มากที่สุดในบรรดาคุณธรรมทั้งปวง ขณะที่ความรอบคอบมีความเกี่ยวข้องหลัก ๆ กับปัญญาของมนุษย์ ส่วนความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในเจตนา แต่ความกล้าหาญซึ่งเป็นคุณธรรมอย่างที่สามนี้ เป็นสิ่งที่นักคิดสายอัสสมาจารย์นิยมมักจะนำไปโยงกับสิ่งที่คนโบราณเรียกว่าเป็น “ความมุ่งปรารถนาถึงสิ่งที่ได้มาได้ยาก” คนโบราณไม่ได้คิดว่ามนุษย์ไม่มีอารมณ์อะไรเลย ถ้าใครไม่มีอารมณ์ เขาก็ย่อมจะกลายเป็นก้อนหิน แต่อารมณ์ต่าง ๆ นั้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นที่อยู่ของบาปเสมอไป หากแต่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรม กำหนดทิศทาง ถูกทำให้บริสุทธิ์ด้วยน้ำแห่งศีลล้างบาป หรือให้ดีกว่านั้นคือด้วยเปลวไฟแห่งพระจิตเจ้า หากคริสตชนไม่มีความกล้าหาญในการใช้พละกำลังของตนเพื่อการทำความดี หากเขาเอาแต่จะไม่รบกวนใครเลย คริสตชนแบบนี้ย่อมไม่อาจทำประโยชน์อะไรได้ ขอให้เราคิดเรื่องนี้กันให้ดี พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเป็นพระเจ้าแบบใส ๆ หรือถือตบะอดทนกับทุกเรื่อง พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่ไม่รู้จักอารมณ์ของมนุษย์ หากแต่แท้จริงแล้วเป็นไปในทางตรงข้าม เช่น เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องความตายของลาซารัสผู้เป็นสหายของพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรงหลั่งน้ำตา นอกจากนี้จิตวิญญาณที่เร่งร้อนของพระองค์ยังเห็นได้จากการแสดงออกบางอย่างด้วย เช่น เมื่อครั้งที่พระองค์ตรัสว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก. 12,49) หรือเมื่อตอนที่พระองค์ได้ทรงใช้กำลังตอบโต้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการใช้พระวิหารเป็นที่ค้าขาย (เทียบ มธ. 21,12-13) [เราได้เห็นว่า] พระเยซูเจ้า[ไม่ได้ไร้อารมณ์ พระองค์ก็]มีอารมณ์[เหมือนกัน]
ในตอนนี้ ให้เราพิจารณานิยามอธิบายตัวตนของคุณธรรมสำคัญข้อนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตของเราเกิดผลอุดม บรรดาคนโบราณ ทั้งนักปรัชญาชาวกรีกและนักเทววิทยาในคริสต์ศาสนา ได้มองเห็นว่าคุณธรรมแห่งความกล้าหาญอาจพัฒนาต่อยอดได้ในสองทาง ทั้งในเชิงรับ และในเชิงรุก
อย่างแรก[คือพัฒนาการในเชิงรับนั้น] เป็นสิ่งที่มุ่งยังภายในตัวของพวกเราเอง พวกเรามีศัตรูภายในหลายอย่างที่จะต้องเอาชนะให้ได้ เช่น ความกังวล ความกลัดกลุ้ม ความกลัว ความรู้สึกผิด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังที่ปลุกเร้าอยู่ภายในเบื้องลึกของตัวเราเอง และบางครั้งก็ทำให้เรากลายเป็นอัมพาตแน่นิ่งไป ให้เรานึกถึงคนมากมายที่จะเป็นนักสู้ แต่กลับยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มสู้ นั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้ตระหนักถึงศัตรูภายในเหล่านี้ เหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญเป็นชัยชนะต่อตัวเอง ความกลัวส่วนมากที่เกิดขึ้นในตัวเราไม่ได้มีพื้นฐานบนความเป็นจริง แล้วก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใดเลย ดังนั้นจึงย่อมเป็นการดียิ่งกว่า หากว่าเราจะเรียกหาพระจิตเจ้า แล้วก็ไปเผชิญหน้ากับทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความกล้าหาญอดทน เราอาจค่อย ๆ แก้ปัญหาไปทีละเรื่องเท่าที่เราทำได้ แต่เราไม่ได้ทำเช่นนั้นอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา หากว่าเราเชื่อมั่นในพระองค์ และมีความจริงใจในการมุ่งแสวงหาความดี เราก็จะสามารถพึ่งพาพระญาณเอื้ออาทร ซึ่งจะคุ้มครองและเป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่เราได้ในทุกสถานการณ์
ต่อมา ให้เราพิจารณาความเคลื่อนไหวอย่างที่สองของคุณธรรมแห่งความกล้าหาญ คือในลักษณะเชิงรุก เพราะว่านอกจากการผจญภายในแล้ว ยังมีศัตรูภายนอกอีกด้วย ซึ่งก็คือการทดลองต่าง ๆ ในชีวิต อาจเป็นการเบียดเบียน อาจเป็นความยากลำบากที่เหนือความคาดหมายหรือเราไม่เคยนึกว่าจะเจอ จริงทีเดียวว่าเราอาจพยายามคาดการณ์ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ความเป็นจริงส่วนมากประกอบด้วยเหตุการณ์ที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ ในทะเล[แห่งชีวิต]อันนี้ บางครั้งเรือของเราอาจถูกคลื่นซัดโคลงเคลงไป ความกล้าหาญนี้เองที่จะทำให้เราได้เป็นชาวเรือที่พร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่หวาดกลัวหรือหมดหวัง
ความกล้าหาญเป็นคุณธรรมพื้นฐานอย่างหนึ่ง เพราะว่าความกล้าหาญเป็นการพร้อมรับความท้าทายแห่งความชั่วในโลกอย่างจริงจัง บางคนทำเหมือนว่าความชั่วไม่ได้มีอยู่ ทำเหมือนกับว่าทุกอย่างไปได้สวย คิดว่าเจตนาของมนุษย์ย่อมจะไม่มีทางมืดบอด คิดว่าพลังแห่งความมืดที่นำมาซึ่งความตายไม่ได้แฝงตัวอยู่ในประวัติศาสตร์ ทว่าเพียงแค่เราเปิดหนังสือประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า เราย่อมพบเห็นการกระทำเลวร้ายต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนเราอาจตกเป็นเหยื่อ แต่บางส่วนเราอาจเป็นผู้กระทำด้วย เช่น สงคราม ความรุนแรง การกดคนเป็นทาส การกดขี่คนยากไร้ สิ่งเหล่านี้เป็นรอยแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ยังคงมีเลือดไหลอยู่ตลอด คุณธรรมแห่งความกล้าหาญทำให้เราโต้ตอบสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราพูดออกมาว่า “ไม่” พูดอย่างเด็ดขาดว่า “ไม่” ต่อเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ในโลกตะวันตกที่มีความสุขสบาย มีหลายสิ่งหลายอย่างถูกทำให้เจือจางไป การแสวงหาความสมบูรณ์แบบถูกแปรสภาพเป็นเพียงพัฒนาการแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิต กลายเป็นว่าเราไม่จำเป็นต้องดิ้นรนต่อสู้อะไร เพราะทุกอย่างก็ไม่ได้ดูแตกต่างไปจากเดิม บางครั้งเราอาจมีความรู้สึกโหยหาอยากจะมีคนที่เป็นประกาศก ความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องดี แต่คนที่มีวิสัยทัศน์และกล้าที่จะก่อปัญหานั้นหายาก เราต้องการคนที่จะนำพาเราออกจากที่สบายซึ่งเรากำลังนอนนิ่งอยู่ และนำพาให้เราพูดเน้นย้ำซ้ำ ๆ ว่า “ไม่” ทั้งต่อความชั่วร้าย และต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่นำไปสู่ความเมินเฉย ให้เราพูดว่า “ไม่” ต่อความชั่วร้าย ให้เราพูดว่า “ไม่” ต่อความเมินเฉย แต่ขอให้เราพูดว่า “ใช่” ต่อความก้าวหน้า ต่อเส้นทางที่พาเราก้าวไปข้างหน้า และเพื่อการนี้ เราจำเป็นต้องต่อสู้
ดังนั้น ขอให้เราจงค้นพบความกล้าหาญของพระเยซูเจ้ากันใหม่อีกครั้งในพระวรสาร และขอให้เราจงเรียนรู้เรื่องความกล้าหาญจากหนทางการเป็นพยานของบรรดานักบุญด้วย ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา และในตอนนี้ พ่ออยากจะส่งใจไปใกล้ชิดกับประชาชนชาวคาซัคสถานซึ่งกำลังประสบเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายภูมิภาค ทำให้ผู้คนหลายพันคนต้องอพยพจากบ้านเรือนของตน พ่อขอเชิญชวนให้ทุกคนอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ที่ต้องทนทุกข์จากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ แต่ถึงแม้เราจะอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก แต่พวกเราก็ยังระลึกถึงความปิติยินดีของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ พ่อขอให้ลูกทุกคน ตลอดจนครอบครัวของลูก ได้รับพระเมตตาอันเปี่ยมด้วยความรักจากพระเจ้า ผู้ทรงเป็นบิดาของเราทั้งหลาย ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานพรแก่ลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคำนึงไปยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน พ่อขอให้แสงสว่างของคำประกาศแห่งปัสกาจงเติบโตขึ้นภายในจิตใจของลูก แสงสว่างนี้เชื้อเชิญให้ลูกเสริมกำลังบำรุงความเชื่อและความหวังในองค์พระเยซูเจ้า ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน และบัดนี้ได้กลับฟื้นคืนพระชนม์แล้ว
พ่อมีความระลึกถึงยูเครน ปาเลสไตน์ และอิสราเอล ซึ่งต่างกำลังเผชิญกับความทุกข์ทรมาน ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานสันติสุขแก่เราทั้งหลาย ตอนนี้มีสงครามในหลายที่เหลือเกิน ขอให้เราทั้งหลายอย่าลืมเมียนมาด้วย ให้เราวอนขอสันติภาพจากองค์พระผู้เป็นเจ้า และให้เราอย่าลืมพี่น้องที่กำลังทนทุกข์อย่างมหาศาลในที่ต่าง ๆ ที่บอบช้ำจากสงคราม ขอให้เราร่วมกันภาวนาเพื่อสันติภาพเสมอ ขอขอบใจ
ใจความสรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องคุณธรรมประการต่าง ๆ บัดนี้เราจะพิจารณาเรื่องความกล้าหาญ ซึ่งหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกให้นิยามไว้ว่าเป็น “คุณธรรมทางศีลธรรมที่ทำให้มีความเข้มแข็งในความยากลำบากและมีความมั่นคงในการทำความดี” คุณธรรมประการนี้ช่วยให้เรามีความแข็งแกร่งมากขึ้นในการพยายามเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ โดยได้รับความเกื้อหนุนจากพระหรรษทาน ทำให้เราไม่พ่ายแพ้แก่การผจญ และทำให้เราเอาชนะอุปสรรคทั้งหมดที่ขัดขวางไม่ให้เราเจริญชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าได้อย่างครบบริบูรณ์ อุปสรรคเหล่านี้อาจมาจากภายใน เช่น ความกลัว ความกังวล หรือความรู้สึกผิด หรืออาจมาจากภายนอก เช่น การทดลอง ความยากลำบาก หรือการเบียดเบียน การบ่มเพาะคุณธรรมแห่งความกล้าหาญทำให้เราสามารถเผชิญกับความชั่วที่มีอยู่จริงได้อย่างจริงจัง และทำให้เราสามารถกระทำการเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมทุกรูปแบบในโลกรอบตัวเรา ขอให้แบบอย่างของความกล้าหาญและความเพียรทนทั้งของพระเยซูเจ้าและของบรรดานักบุญ จงเป็นกำลังใจในการที่เราจะเดินทางบนเส้นทางความเชื่อของคริสตชน และช่วยยืนยันความเชื่อของเราให้มั่นคงยิ่งขึ้นว่า พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ได้ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือบาปและความตาย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร
เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา General audience มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)