สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2024


Cycle of Catechesis. Vices and Virtues. 10. Pride
คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (10) ความอวดดีถือดี(จองหอง)
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
คำสอนวันนี้ จะอ่านโดยมงซินญอร์[ปีแอร์ลุยจี จีโรลี, I.C. จากสำนักเลขาธิการแห่งรัฐของสำนักวาติกัน] ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยงานพ่อ เพราะว่าพ่อยังเป็นหวัด จึงไม่สามารถอ่านได้ดี ขอขอบใจ
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องคุณธรรมและพยศชั่วประการต่าง ๆ วันนี้เราจะพิจารณาพยศชั่วประการสุดท้าย คือ ความอวดดีถือดี (จองหอง) คนกรีกโบราณเรียกพยศชั่วอันนี้ด้วยคำหนึ่งซึ่งอาจแปลได้ว่า “ความยิ่งใหญ่เกินตัว” จริงทีเดียวว่าความถือดีเป็นการยกตนข่มท่าน เป็นความอวดดี เป็นความหยิ่งยโส และยังเป็นสิ่งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสถึงเวลาที่ทรงอธิบายว่าความชั่วร้ายย่อมมาจากจิตใจของมนุษย์เสมอ (เทียบ “ความหยิ่งยโส” ใน มก. 7,22) คนที่ถือดีเป็นคนที่คิดว่าตัวเองดีเด่นมากกว่าที่เป็นอยู่จริง เขาย่อมกระวนกระวายใจอยากให้คนอื่นยอมรับว่าเขาดีเลิศกว่าใคร ๆ เขาย่อมจะอยากให้ผู้อื่นเห็นความดีของเขาเสมอ และยังดูถูกคนอื่นว่าไม่ดีเท่าตัวเขาเองด้วย
จากคำอธิบายประการแรกอันนี้ เราย่อมจะเห็นว่า ความอวดดีถือดีมีความใกล้ชิดอย่างมากกับความหยิ่งยโสที่เราได้พิจารณากันไปเมื่อครั้งที่แล้ว ทว่าในขณะที่ความหยิ่งยโสเป็นโรคภัยในตัวมนุษย์เอง แต่มันก็ยังเป็นแค่โรคแบบเด็ก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจากความถือดี บรรดานักพรตในยุคโบราณคิดว่าพยศชั่วต่าง ๆ มีลำดับของมัน คนเรามักจะเริ่มจากพยศชั่วที่หยาบ ๆ ก่อน เช่น ความตะกละ จากนั้นจึงไปสู่ปีศาจที่เลวร้ายกว่านั้น และกล่าวด้วยว่า ความอวดดีถือดีเป็นราชินีผู้ยิ่งใหญ่ในบรรดาพยศชั่วทั้งปวง จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ดันเต [กวีชาวอิตาลี, 1265 – 1321] ได้จัดความถือดีไว้ในชั้น[ล่างสุดของภูเขาแห่ง]ไฟชำระ[ซึ่งเป็นภูเขาที่ทุกคนในไฟชำระต้องปีนสูงขึ้นไปเพื่อที่จะหลุดพ้นจากไฟชำระ] ผู้ที่ยอมแพ้แก่ความถือดีย่อมออกห่างจากพระเจ้า การแก้ไขพยศชั่วอันนี้ต้องใช้เวลาและความพยายามมากยิ่งกว่าการต่อสู้อย่างอื่น ๆ ที่เป็นสิ่งที่คริสตชนถูกเรียกให้กระทำ
ในความเป็นจริงแล้ว ภายในความถือดีมีบาปอย่างหนึ่งที่เป็นรากฝังลึก กล่าวคือ การอ้างอย่างเหลวไหลว่าตนเองเป็นเหมือนพระเจ้า บาปของ[อาดัมกับเอวา]ที่กล่าวถึงในหนังสือปฐมกาลนั้น ไม่ว่าเราจะมองจากมุมไหนก็ตาม ก็ย่อมจะเห็นว่านั่นเป็นบาปแห่งความถือดี [ปีศาจที่เป็นมารผจญ]บอกกับทั้งสองว่า “ท่านกินผลไม้นั้นวันใด ตาของท่านจะเปิดในวันนั้น ท่านจะเป็นเหมือนพระเจ้า” (ปฐก. 3,5) นักคิดนักเขียนเกี่ยวกับชีวิตจิตได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการอธิบายถึงผลสืบเนื่องที่ความถือดีทำให้เกิดมีขึ้นภายในชีวิตประจำวัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าความถือดีทำลายความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างไร และเพื่อชี้ว่าความชั่วร้ายนี้ คือ [ความถือดี] มีวิธีการอย่างไรในการวางยาพิษต่อความรู้สึกแห่งความเป็นพี่น้อง ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่นำพามนุษย์ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ต่อไปเราจะกล่าวถึงอาการที่บ่งชี้ว่าคนคนหนึ่งพ่ายแพ้ให้แก่พยศชั่วแห่งความถือดี ความถือดีเป็นความชั่วที่แสดงออกทางร่างกายอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ คนที่ถือดีย่อมจะทำตัวจองหอง เขาย่อมมี “คอที่แข็งกระด้าง” กล่าวคือ เป็นคนดื้อดึงไม่ยอมก้มหัวให้แก่ใคร เขามักจะตัดสินผู้อื่นในเชิงดูถูกได้อย่างง่ายดาย เขาอาจตัดสินผู้อื่นว่าโง่เง่าไร้ความสามารถ เขาตัดสินแบบนี้โดยไม่ใช้เหตุผล แล้วก็ไม่ยอมทบทวนความคิดแบบนี้ของตัวเองด้วย ความจองหองทำให้เขาหลงลืมไปว่า ถึงแม้ว่าภายในพระวรสาร พระเยซูเจ้าจะได้ทรงวางหลักการทางศีลธรรมไว้เพียงเล็กน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์ไม่ทรงประนีประนอมเลย คือข้อที่ว่า จงอย่าตัดสินผู้อื่น เราย่อมจะรู้ว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับคนที่ถือดี เมื่อเวลาที่มีคนวิจารณ์เขาเพียงเล็กน้อยและอย่างสร้างสรรค์ หรือเวลาที่มีคนตั้งข้อสังเกตบางอย่างกับเขาโดยไม่ได้เป็นการทำร้ายใคร แล้วคนผู้นั้นมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงเกินเหตุ เขากลายเป็นคนโกรธเกรี้ยวและตะโกนเสียงดัง ราวกับว่ามีใครมาเหยียดหยามศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ของเขา สิ่งที่เขากระทำแบบนี้เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และเป็นการทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นขาดตอนลง
หากใครถูกความถือดีเข้าครอบงำ คนอื่น ๆ ก็ย่อมจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก จะไปคุยกับเขาก็ไม่ได้ ยิ่งจะเตือนใจให้เขาแก้ไขปรับปรุงตนเองก็ยิ่งไม่ได้อีก เพราะว่าในท้ายที่สุดแล้ว คนถือดีย่อมจะไม่มีความรู้ตัวอีกต่อไป สิ่งที่คนอื่นทำได้มีเพียงความอดทน เพราะสักวันหนึ่ง [ปราการ]ที่คนแบบนี้สร้างขึ้นย่อมจะต้องพังทลาย สุภาษิตอิตาลีอันหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ความถือดีย่อมออกเดินทางไปบนหลังม้า แต่กลับมาด้วยการเดินเท้า” ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงต้องพบกับคนถือดีจำนวนมากมาย และบ่อยครั้งที่พระองค์ได้ทรงเปิดโปงพยศชั่วอันนี้ของเขาด้วย ถึงแม้ว่าบางคนจะซุกซ่อนความถือดีของตนไว้อย่างแนบเนียนก็ตาม นักบุญเปโตรได้โอ้อวดอย่างเต็มปากว่าตนมีความจริงใจไม่หักหลัง ท่านบอกว่า “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะต้องตายพร้อมกับพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ปฏิเสธพระองค์เลย” (เทียบ มธ. 26,33) แต่ที่จริงแล้ว ไม่นานต่อมาท่านก็จะทำตัวเหมือนกับคนอื่น ๆ คือมีความหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญกับความตายซึ่งท่านไม่เคยนึกฝันว่าจะมาใกล้ตัวได้ขนาดนั้น และในตอนนี้ ท่านก็ไม่ได้ชูคออย่างอวดตนอีกต่อไป แต่ท่านกลับร้องไห้หลั่งน้ำตา นักบุญเปโตรแบบหลังอย่างนี้แหละที่ได้รับการเยียวยาจากพระเยซูเจ้า และในที่สุดก็ได้กลายเป็นผู้ที่เหมาะสมกับการแบกรับภาระหนักของพระศาสนจักร ก่อนหน้านั้นท่านเคยโอ้อวดสิ่งที่ท่านไม่ควรจะนำมาโอ้อวด แต่ตอนนี้ท่านได้เป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์ และเป็นผู้ที่นายของเขาสามารถ “แต่งตั้งให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของตน” ได้ (ลก. 12,44) ดังที่ปรากฏในเรื่องอุปมา
ความสุภาพถ่อมตนเป็นหนทางแห่งความรอด เป็นทางแก้ที่แท้จริงสำหรับความถือดีทุกรูปแบบ ในบทเพลงสรรเสริญของพระแม่มารีย์ (ลก. 1,46-55) แม่พระได้ขับร้องสรรเสริญพระเจ้า ผู้ทรงแสดงพระอานุภาพด้วยการบดขี้ความถือดีภายในความคิดจิตใจของผู้คนที่ถือดีให้กระจัดกระจายไป คนที่ถือดีอาจมีความมุ่งหวังอยากจะลักเอาบางสิ่งบางอย่างจากพระเจ้า แต่การทำแบบนี้ย่อมไร้ประโยชน์ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว พระเจ้าทรงยินดีที่จะมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่เรา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักบุญยากอบอัครสาวกจึงได้เขียนถึงประชาคมที่เสียหายจากการทะเลาะเบาะแว้งกันเองที่มาจากความถือดีเอาไว้ว่า “พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง แต่ประทานพระหรรษทานแก่ผู้ถ่อมตน” (ยบ. 4,6)
ดังนั้น พี่น้องที่รัก ขอให้เราใช้โอกาสเทศกาลมหาพรตนี้เพื่อการต่อสู้กับความอวดดีถือดีของเราเอง
คำปราศรัยพิเศษของพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากเวลส์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูก จงได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดถึงไปยังบรรดาเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน ในช่วงเวลานี้ที่เป็นเทศกาลมหาพรต ขอให้ลูกทุกคนเดินหน้าต่อไปอย่างกล้าหาญ ภายในความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่างที่บดบังชีวิตของลูกไว้ เพื่อที่ลูกจะได้มีความยินดีเต็มใจในการกลับไปหาพระเจ้า ผู้ทรงรักเราทั้งหลายด้วยความรักอันนิรันดร
พี่น้องที่รัก พ่อขอเรียกร้องเชิญชวนอีกครั้งให้พี่น้องอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้คนที่ต้องทนทุกข์จากสงคราม ทั้งในยูเครน ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และในที่อื่น ๆ ของโลก สงครามเป็นสิ่งผิด ให้เราภาวนาเพื่อสันติภาพ ให้เราจงวอนขอของประทานแห่งสันติภาพจากองค์พระผู้เป็นเจ้า พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องคุณธรรมและพยศชั่วประการต่าง ๆ วันนี้เราจะพิจารณาเรื่องความถือดี ซึ่งเป็นพยศชั่วอย่างเอก และเป็นสิ่งที่นักคิดนักเขียนในยุคโบราณกล่าวไว้ว่า เป็น “ราชินีแห่งพยศชั่วทั้งปวง” จริงทีเดียวว่าพยศชั่วแห่งความถือดีเป็นสิ่งที่อำพรางบาปอันหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น กล่าวคือ การอ้างตัวอย่างเหลวไหลว่าตนเองเป็นเหมือนพระเจ้า ภายในเรื่อง “ดีวีนากอมเมเดีย” ของดันเต [กวีชาวอิตาลี] พยศชั่วแห่งความถือดีเป็นสิ่งที่ถูกลงโทษเป็นอันดับแรกที่ภูเขาแห่งไฟชำระ การกล่าวเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าการเอาชนะความถือดีเป็นเรื่องยากขนาดไหน และว่าความถือดีทำให้เราออกห่างจากพระเจ้ามากแค่ไหน [พยศชั่วแห่ง]ความถือดีนี้ย่อมจะพังทลายในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว แต่พระหรรษทานของพระเจ้าอาจทำให้การพังทลายอันนี้ได้เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสุภาพถ่อมตนซึ่งนำมาซึ่งความรอดได้ ในบทเพลงสรรเสริญของพระแม่มารีย์ (ลก. 1,46-55) แม่พระได้ขับร้องสรรเสริญพระเจ้า ผู้ทรง “ขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป” และทรง “ยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น” นักบุญยากอบอัครสาวกก็ได้กล่าวไว้ในทำนองเดียวกัน ท่านได้เขียนถึงประชาคมของท่านที่เสียหายจากการทะเลาะเบาะแว้งกันเองที่มาจากความถือดีเอาไว้ว่า “พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง แต่ประทานพระหรรษทานแก่ผู้ถ่อมตน” (ยบ. 4,6) ดังนั้น ขอให้เทศกาลมหาพรตจงเป็นโอกาสสำหรับเราในการเอาชนะความถือดีและน้อมรับความสุภาพถ่อมตน เพื่อที่เราจะได้เข้าไปใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น และได้รับพระหรรษทานอันอุดมจากพระองค์
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)