สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ANGELUS/ทูตสวรรค์แจ้งข่าว
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2024


เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก สุขสันต์วันพระเจ้า
พระวรสารในพิธีกรรมวันนี้ (มก. 10,46-52) เล่าให้พวกเราฟังเรื่องพระเยซูเจ้าทรงเยียวยาชายตาบอดผู้หนึ่ง ชายผู้นี้มีชื่อว่าบาร์ทิเมอัส แต่ผู้คนบนถนนกลับไม่มีใครสนใจเขา เพราะว่าเขาเป็นเพียงขอทานที่ยากจน และในบรรดาผู้คน ก็ไม่มีใครชำเลืองตามาสนใจคนตาบอดผู้นี้ พวกเขาล้วนแต่ทอดทิ้ง ไม่สนใจ ไม่มีสายตาแห่งความห่วงใย ไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่าบาร์ทิเมอัสจะตาบอดมองไม่เห็น แต่เขาก็ได้ยิน และพยายามทำให้ผู้อื่นได้ยินเขา รับฟังเขา เขาตะโกนด้วยเสียงดังว่า “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก. 10,48) [และถึงแม้ว่าคนอื่นอาจจะไม่สนใจรับฟัง] แต่พระเยซูเจ้าทรงได้ยินและมองเห็นเขา พระองค์ทรงให้เวลาแก่เขา และตรัสถามเขาว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” (มก. 10,51)
การถามคำถามกับคนตาบอดว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้”อาจดูเหมือนกับว่าเป็นการยั่วยุหาเรื่อง แต่ที่จริงแล้ว คำถามนี้เป็นการทดสอบ สิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสถามบาร์ทิเมอัส คือเรื่องที่ว่า แท้จริงแล้วเขากำลังมองหาใคร เพราะเหตุใด และในความคิดของเขา เขาคิดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” เป็นคนแบบใด พระองค์ทรงถามเช่นนี้ก่อนที่จะทรงเปิดตาของบาร์ทิเมอัส ทำให้เขามองเห็น พ่ออยากให้พวกเราพิจารณาแง่มุมสามประการภายในเรื่องราวแห่งการพบปะ ซึ่งได้กลายมาเป็นการพูดคุยเสวนา ดังที่พวกเราได้ฟังไปนี้ ซึ่งได้แก่ เสียงร่ำร้อง ความเชื่อ และการเดินทาง
เริ่มแรกสุด ให้เราพิจารณาเสียงร่ำร้องของบาร์ทิเมอัส ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการร้องขอความช่วยเหลือ แต่ยังเป็นการยืนยันการมีอยู่ของตนเองด้วย [ดูเหมือน]ชายตาบอดกำลังกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีตัวตน โปรดมองดูข้าพเจ้าด้วยเถิด พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้ามองไม่เห็นพระองค์ แล้วพระองค์มองเห็นข้าพเจ้าไหม” แน่นอนว่าพระเยซูเจ้าทรงมองเห็นขอทานผู้นี้ พระองค์ทรงรับฟังเขาทั้งด้วยหูและด้วยหัวใจ แล้วพวกเราล่ะ เวลาที่เราเจอขอทานตามถนน บ่อยครั้งหรือไม่ที่เราหันไปทางอื่น บ่อยครั้งแค่ไหนที่เราไม่สนใจเขา ทำราวกับว่าเขาไม่มีตัวตน เราได้ยินเสียงร่ำร้องของ[บรรดาคนยากไร้]บ้างหรือไม่
ประเด็นที่สอง คือ ความเชื่อ พระเยซูเจ้าตรัสกับบาร์ทิเมอัสว่า “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” (มก. 10,52) บาร์ทิเมอัสมีความเชื่อ เขาจึงมองเห็น พระเยซูเจ้าทรงเป็นแสงสว่างแห่งดวงตาของเขา [และในอีกด้านหนึ่ง] พระเยซูเจ้าก็ได้ทรงสังเกต[ด้วย]ว่าบาร์ทิเมอัสมองดูพระองค์อย่างไร แล้วพวกเราล่ะ พวกเรามองดู[คนยากไร้]ด้วยสายตาแบบใด เรากำลังทำเป็นไม่สนใจพวกเขาอยู่หรือไม่ เรามองดูพวกเขาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงมองหรือไม่ เรารู้จักทำความเข้าใจกับความต้องการ ความจำเป็น และเสียงร้องขอความช่วยเหลือของพวกเขาหรือไม่ และในเวลาที่พวกเราให้ทาน เรามองตา[ผู้รับ]หรือไม่ เราสัมผัสมือของเขา รู้สึกถึงร่างกาย[และตัวตน]ของเขาหรือไม่
ประเด็นท้ายสุด คือ การเดินทาง เมื่อบาร์ทิเมอัสได้รับการเยียวยาแล้ว เขาก็ได้ “เดินทางติดตามพระองค์ไป” (มก. 10,52) พวกเราแต่ละคนล้วนเป็นเหมือนกับบาร์ทิเมอัส พวกเราล้วนเคยตาบอดภายในใจ แต่เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาพวกเรา พวกเราก็ได้ติดตามพระองค์ และเมื่อใดก็ตามที่เราเข้าไปหาคนยากจน เข้าไปทำให้พวกเขารู้สึกถึงความใกล้ชิดของเรา แท้จริงแล้วนั่นเป็นการที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาหาพวกเราภายในตัวตนของคนยากจนผู้นั้น พ่อขอให้พวกเราอย่าคิดว่าการให้ทานเป็นเหมือนการแจกเงินแจกสิ่งของ เพราะว่าภายในการให้ทานนั้น ผู้ที่ได้รับพระหรรษทานมากที่สุดคือฝ่ายที่เป็นผู้ให้ เมื่อผู้ใดให้ทาน ผู้นั่นย่อมทำให้กิจการของตนเป็นที่รู้เห็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ในตอนนี้ พ่อจึงอยากขอให้พวกเราร่วมกันอธิษฐานภาวนาต่อพระแม่มารีย์ ผู้เป็นรุ่งอรุณแห่งความรอด เพื่อที่ท่านจะได้คุ้มครองเราทั้งหลายให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งความสว่างของพระคริสตเจ้า
หลังการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ดังนี้
พี่น้องที่รัก การประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปได้ปิดฉากลงแล้วในวันนี้ ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนา เพื่อที่สิ่งต่าง ๆ ที่ได้มีการกระทำในช่วงเดือนที่ผ่านมา จะได้รับการนำไปเดินหน้าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร
วันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 50 ปี นับแต่การก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อศาสนสัมพันธ์กับชาวยิว นอกจากนี้ วันพรุ่งนี้[คือวันที่ 28 ตุลาคม] ยังเป็นโอกาสครบรอบ 60 ปี นับแต่ที่สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้ออกคำแถลง Nostra aetate [ว่าด้วยความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับศาสนาที่มิใช่คริสต์ศาสนา]ด้วย ในยุคปัจจุบันที่มีความทุกข์ยากและความตึงเครียดมากมาย พ่อขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคนทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในงาน[ศาสนสัมพันธ์]ในระดับ[พระศาสนจักรท้องถิ่น] ซึ่งเป็นงานสานเสวนา และมีสันติภาพเป็นเป้าหมาย
วันพรุ่งนี้ [วันที่ 28 ตุลาคม] จะเป็นวันแรกของการประชุมครั้งสำคัญ คือ การประชุมกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ [ครั้งที่ 34] ซึ่งจัดขึ้นที่เจนีวา[ของสวิตเซอร์แลนด์] บัดนี้เป็นเวลา 75 ปีนับตั้งแต่ที่อนุสัญญาเจนีวา [ซึ่งประกอบด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับที่วางมาตรฐานของการปฏิบัติต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบภายในสงคราม] ได้มีผลบังคับใช้ พ่อขอให้การประชุมนี้ช่วยกระตุ้นเตือนมโนธรรมของผู้คน เพื่อที่ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ใช้อาวุธในที่ต่าง ๆ จะ[ยังคงมีการ]ให้ความเคารพต่อชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้คน มีการให้ความเคารพต่อบูรณภาพของสิ่งก่อสร้างทางพลเรือน ตลอดจนสถานที่ทางศาสนา โดยสอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ [เพราะว่าในตอนนี้]เป็นที่น่าเศร้าเมื่อได้เห็นว่า มีโรงพยาบาลและโรงเรียนจำนวนมากถูกทำลายภายในสงคราม
พ่อขอร่วมใจกับพระศาสนจักรในเขตปกครองซันกริสโตบัลเดลัสกาซัส ในรัฐเชียปัสของเม็กซิโก ที่ได้สูญเสียคุณพ่อมาร์เซโล เปเรซ เปเรซ ผู้ซึ่งถูกสังหารเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คุณพ่อเป็นผู้รับใช้ที่มีใจร้อนรนเพื่อพระวรสารและเพื่อประชากรที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า ขอให้ความเสียสละของคุณพ่อ ตลอดจนบาทหลวงคนอื่น ๆ ที่ถูกสังหารด้วยเหตุที่พวกเขาทำงานรับใช้อย่างซื่อสัตย์ จงเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพและชีวิตคริสตชน
พ่อขอแสดงความใกล้ชิดต่อผู้คนในฟิลิปปินส์ที่กำลังเผชิญกับพายุไซโคลนกำลังแรง ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดเสริมกำลังแก่ผู้คนชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นวางใจ[ในพระองค์]
พ่อขอทักทายลูกทุกคนในที่นี้ ทั้งที่เป็นชาวกรุงโรม และที่เป็นผู้แสวงบุญ พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มคริสชนชาวเปรูในกรุงโรม ชื่อกลุ่มองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกระทำอัศจรรย์ พ่อขอขอบใจสำหรับการเป็นพยานของพวกลูก และขอเป็นแรงใจสนับสนุนให้พวกลูกก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางแห่งความเชื่อ
พ่อขอทักทายกลุ่มผู้สูงอายุจากลอยรีปอร์โตซันเปาโล กลุ่มผู้เตรียมรับศีลกำลังจากเมืองอัสเซมีนี[ในเขตปกครองกัลยารี] กลุ่ม “ผู้แสวงบุญเพื่อสุขภาพ” จากเมืองเปียเชนซา กลุ่มฆราวาสซิสเตอร์เชียนผู้ถวายตัวแห่งสักการสถานที่โกตรีโน และกลุ่มจากสหพันธ์อัศวินผู้ถือพรตแห่งนักบุญเบอร์นาร์ดแห่งเกียราวัลเล
พ่อขอให้ลูกทุกคนอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสันติภาพในยูเครน ปาเลสไตน์ อิสราเอล และเลบานอน เพื่อที่ความขัดแย้งจะไม่ลุกลามรุนแรงไปมากกว่านี้ และเพื่อที่จะมีการให้ความสำคัญสูงสุดต่อชีวิตของผู้คน เพราะว่าชีวิตมนุษย์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เราได้เห็นกันในทุก ๆ วันว่า คนกลุ่มแรกที่ตกเป็นเหยื่อคือบรรดาพลเรือน มีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากเหลือเกินต้องเสียชีวิต พวกเราได้เห็นภาพเด็ก ๆ ที่ถูกสังหารกันอยู่ทุกวัน เด็กที่ถูกคร่าชีวิตมีมากมายเหลือเกิน ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ
พ่อขอให้ลูกทุกคนมีความสุขในวันอาทิตย์ ขอให้ลูกทุกคนอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อพ่อ รับประทานอาหารกลางวันให้อร่อย แล้วพบกันใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และ วรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บคำปราศรัย ANGELUS ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)