พิธีบูชาขอบพระคุณ สมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล อัครสาวก
และพิธีเสกปัลลิอุมที่จะมอบแก่บรรดาอาร์ชบิชอปประจำเขตปกครอง
ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ในรอบปีที่ผ่านมา
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร
วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2024


ขอให้เราทั้งหลายพิจารณาอัครสาวกทั้งสองท่าน คือ นักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล คนหนึ่งเป็นชาวประมงจากกาลิลี ซึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์ ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นชาวฟาริสีที่เคยเบียดเบียนพระศาสนจักร แต่พระหรรษทานได้ทำให้ท่านกลายเป็นผู้ประกาศพระวรสารแก่นานาชาติ ขอให้พระวาจาจงส่องสว่างให้เราทั้งหลายได้รับแรงบันดาลใจ ทั้งจากเรื่องราวของพวกท่าน และจากความกระตือรือร้นในการประกาศซึ่งเป็นลักษณะเด่นในชีวิตของพวกท่านด้วย การที่พวกท่านได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้า นับว่าเป็นประสบการณ์แห่งปัสกาที่แท้จริง กล่าวคือ พวกท่านได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ประตูสู่ชีวิตใหม่ได้เปิดออกต่อหน้าพวกท่าน
พี่น้องที่รัก ด้วยว่าปีหน้าจะเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น พ่อขอเชิญชวนให้พวกเราไตร่ตรองพิจารณาถึงภาพของประตู ปีศักดิ์สิทธิ์[ที่จะมาถึงนี้]เป็นช่วงเวลาแห่งพระหรรษทาน ซึ่งพวกเราจะได้เปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ให้คนทั้งหลายได้ก้าวผ่านประตูนี้เข้าสู่พระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์และทรงชีวิต ซึ่งก็คือองค์พระเยซูเจ้า และให้คนทั้งหลายได้สัมผัสความรักของพระเจ้าในพระองค์ ซึ่งความรักอันนี้เองที่ช่วยยืนยันความหวังของเราทั้งหลายให้มั่นคง และฟื้นฟูความปีติยินดีของเราขึ้นใหม่ ขณะที่ภายในเรื่องของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล เราก็จะได้เห็นภาพประตูเปิดออกหลายครั้งเช่นกัน
บทอ่านบทแรกเป็นเรื่องนักบุญเปโตรถูกปลดปล่อยจากที่คุมขัง เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยภาพที่สื่อให้ระลึกถึงเหตุการณ์แห่งปัสกา เรื่องราวได้เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ[คือช่วง 7 วันหลังจากปัสกา] มีกษัตริย์เฮโรดเป็นภาพชวนให้นึกถึงฟาโรห์แห่งอียิปต์ การปลดปล่อยเกิดขึ้นในยามกลางคืนเหมือนกับตอนที่ชาวอิสราเอล[ถูกปลดปล่อยจากอียิปต์] และเนื้อหาของสิ่งที่ทูตสวรรค์บอกกับนักบุญเปโตรก็เหมือนกับเนื้อหาของคำสั่งที่มีต่อประชากรอิสราเอล กล่าวคือ ทูตสวรรค์ได้บอกให้นักบุญเปโตรรีบลุกขึ้น คาดสะเอว และสวมรองเท้า (เทียบ กจ. 12,8; อพย. 12,11) เช่นนี้เองที่เรื่องราวนี้เป็นเรื่องของการอพยพครั้งใหม่ ที่ซึ่งพระเจ้าทรงช่วยเหลือพระศาสนจักรให้รอดพ้นอันตราย ทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์ที่ถูกผูกมัดจองจำ และได้เผยแสดงพระองค์เองอีกครั้งว่า ทรงเป็นพระเจ้าแห่งความเมตตา ผู้ทรงค้ำจุนประชากรของพระองค์ระหว่างที่พวกเขากำลังเดินทาง
ในค่ำคืนแห่งการปลดปล่อยนั้น เริ่มแรก ประตูคุกได้ถูกเปิดออกอย่างอัศจรรย์ จากนั้น พระคัมภีร์ได้เล่าให้เราฟังว่า เมื่อนักบุญเปโตรและทูตสวรรค์ที่อยู่กับท่านได้มาถึงประตูเหล็กที่เป็นทางผ่านเข้าไปในเมือง “ประตูนั้นก็เปิดได้เอง” (กจ. 12,10) นักบุญเปโตรและทูตสวรรค์ไม่ได้เปิดประตู หากแต่ประตูนั้นได้เปิดออกเอง นั่นเป็นเพราะว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้เปิดประตู ทรงเป็นผู้ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ และทรงทำให้หนทางเปิดออกเบื้องหน้าพวกเรา ถึงแม้เราจะได้ยินในพระวรสารไปแล้วว่า พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบกุญแจแห่งพระอาณาจักรไว้กับนักบุญเปโตร แต่นักบุญเปโตรเองย่อมเข้าใจดีว่า ผู้ที่เปิดประตูทั้งปวงนั้นคือองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเดินทางนำพวกเราไปในทุกกรณี มีสิ่งหนึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ ถึงแม้ประตูคุกจะถูกเปิดออกด้วยพระอานุภาพของพระเจ้า แต่ในเวลาต่อมา นักบุญเปโตรกลับต้องพบว่าเป็นการยากที่จะเข้าไปยังบ้านเรือนของประชาคมคริสตชน [เพราะเรื่องราวมีต่อมาว่า] หญิงที่จะไปเปิดประตูนั้นคิดว่าท่านเป็นผี ก็เลยไม่ได้เปิดประตูให้ท่าน (เทียบ กจ. 12,12-17) บ่อยครั้งเหลือเกินที่ประชาคมในที่ต่าง ๆ ไม่รู้จักปรีชาญาณเรื่องความจำเป็นที่จะต้องเปิดประตู
เรื่องราวการเดินทางของนักบุญเปาโลก็เช่นกัน โดยหลักแล้ว เรื่องราวของท่านเป็นเรื่องของประสบการณ์แห่งปัสกา กล่าวคือในเริ่มแรก ชีวิตของท่านได้เปลี่ยนไปเมื่อได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพขณะที่ท่านกำลังเดินทางไปยังดามัสกัส และหลังจากนั้น เมื่อท่านได้รำพึงไตร่ตรองด้วยจิตใจเร่าร้อนเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงไม้กางเขน ท่านก็ได้ค้นพบพระหรรษทานแห่งความอ่อนแอ ท่านได้บอกกับเราว่า เมื่อใดที่พวกเราอ่อนแอ เมื่อนั้นเองที่พวกเราแข็งแกร่ง เหตุว่าพวกเราทั้งหลายไม่ได้ยึดถือตนเองเป็นที่พึ่งอีกต่อไป หากแต่บัดนี้ เราได้ยึดถือพระคริสตเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา (เทียบ 2 คร. 12,10) และเมื่อท่านได้เป็นคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า และได้รับทรมานถูกตรึงกางเขนด้วยกันกับพระองค์ ท่านก็สามารถเขียนได้ว่า “[ที่]ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่[นั้น] มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า” (กท. 2,20) อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ไม่ได้ทำให้ท่านมีความคิดทางศาสนาที่เอาแต่มองภายในตัวเองและมุ่งแสวงหาแต่การบรรเทาใจ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ชีวิตฝ่ายจิตแบบในห้องนั่งเล่น” เหมือนกับที่เห็นได้ในขบวนการบางอย่างภายในพระศาสนจักรทุกวันนี้ หากแต่เป็นในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าได้จุดเปลวไฟขึ้นในชีวิตของนักบุญเปาโล ทำให้ท่านมีความกระตือรือร้นอย่างเร่งร้อนที่จะไปประกาศพระวรสาร และเมื่อท่านได้มาถึงบั้นปลายของชีวิต ท่านก็สามารถกล่าวได้ดังที่เราทั้งหลายได้ยินไปแล้วในบทอ่านที่สองว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่เคียงข้างและประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า เพื่อการประกาศข่าวดีจะได้สำเร็จไปโดยทางข้าพเจ้า และคนต่างชาติทั้งหลายจะได้ฟังข่าวดี” (2 ทธ. 4,17)
นักบุญเปาโลได้ใช้ภาพของประตูที่เปิดออกเพื่ออธิบายเรื่องที่ว่า พระเจ้าประทานโอกาสมากมายให้ท่านได้ประกาศพระวรสาร เช่น ในเรื่องที่ท่านเดินทางกับบารนาบัสไปยังเมืองอันทิโอก พระคัมภีร์ได้เขียนไว้ว่า “เมื่อไปถึง เปาโลและบารนาบัสก็เรียกประชุมกลุ่มคริสตชน เล่าทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำโดยผ่านตนว่า พระเจ้าทรงเปิดประตูแห่งความเชื่อให้คนต่างศาสนา” (กจ. 14,27) ในทำนองเดียวกัน ท่านได้เขียนถึงประชาคมที่โครินธ์ว่า “มีประตูเปิดอยู่ให้ข้าพเจ้า เป็นประตูที่ใหญ่และให้ผล” (1 คร. 16,9) และท่านได้เขียนเรียกร้องถึงประชาคมที่โคโลสีไว้ว่า “จงภาวนาสำหรับเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะทรงเปิดโอกาสให้เราประกาศพระวาจาสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้า” (คส. 4,3)
พี่น้องที่รัก อัครสาวกทั้งสองท่าน คือนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล ล้วนได้สัมผัสกับพระหรรษทานเช่นนี้มาแล้ว พวกท่านได้เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นกิจการของพระเจ้าด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากพระเจ้าจะทรงเปิดประตูของที่จองจำภายในจิตใจของพวกท่านแล้ว ก็ยังได้ทรงทำให้ประตูของคุกจริง ๆ ที่ท่านถูกคุมขังด้วยเหตุของพระวรสารได้เปิดออกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น องค์พระผู้เป็นเจ้ายังได้ทรงทำให้ประตูแห่งการประกาศพระวรสารได้เปิดออกเบื้องหน้าพวกท่านเช่นกัน เพื่อที่พวกท่านจะได้มีความปีติยินดีในการได้พบปะกับพี่น้องในบรรดาประชาคมที่เพิ่งเกิดใหม่ และในการนำพาความหวังแห่งพระวรสารไปยังทุกคน โดยที่ในปีนี้ พวกเราทั้งหลายก็กำลังเตรียมจะเปิดประตูบานหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งก็คือ ประตูศักดิ์สิทธิ์
พี่น้องที่รัก ในวันนี้ บรรดาอาร์ชบิชอปมหานครที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้วจะได้รับปัลลิอุม พวกเขาทั้งหลายได้รับเรียกให้เป็นผู้เลี้ยงแกะผู้มีใจร้อนรน ผู้ที่จะเปิดประตูแห่งพระวรสาร ผู้ที่จะทำงานรับใช้เพื่อช่วยในการก่อร่างสร้างพระศาสนจักรและสร้างสังคมที่มีประตูเปิดกว้าง ทั้งนี้ โดยกระทำภายในความสนิทสัมพันธ์กับ[พระสันตะปาปา ผู้สืบทอดตำแหน่งจากนักบุญ]เปโตร และด้วยการเอาอย่างพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นประตูสำหรับฝูงแกะ (เทียบ ยน. 10,7)
พ่อขอทักทายผู้แทนจากสำนักพระอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลด้วยความรักอย่างพี่น้อง พ่อขอขอบใจที่ท่านได้เดินทางมาเพื่อแสดงออกซึ่งความปรารถนาร่วมกันที่จะให้พระศาสนจักรของพวกเราทั้งสองฝ่ายมีความสนิทสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ และพ่อขอส่งความปรารถนาดีด้วยใจจริงไปยังพระอัครบิดรบาร์โธโลมิว พี่น้องอันเป็นที่รักของพ่อด้วย
ขอให้นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล โปรดช่วยให้เราทั้งหลายสามารถเปิดประตูต่าง ๆ ในชีวิตเพื่อต้อนรับพระเยซูเจ้า ขอให้พวกท่านเสนอวิงวอนเพื่อเราทั้งหลาย เพื่อกรุงโรมแห่งนี้ และเพื่อโลกทั้งมวลด้วย อาเมน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร
เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)